แนะนำหน่วยตรวจสอบภายใน

 

งานตรวจสอบภายในภาคราชการ เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โดยระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2505 กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการ เป็นผู้ตรวจสอบภายใน รับผิดชอบในการตรวจการเบิกจ่ายรวมทั้งการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่าย และรายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการอย่างน้อยเดือนละครั้ง ต่อมา พ.ศ. 2516 งานตรวจสอบภายในถูกนำไปกำหนดไว้ในระเบียบการรับจ่าย การเก็บรักษาและการนำส่งเงินของส่วนราชการ พ.ศ. 2516 แทน และใน พ.ศ. 2519 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกกระทรวง และกรม มีอัตรากำลังในตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการหรือของจังหวัดโดยเฉพาะ ส่งผลให้ระทรวงการคลัง จัดทำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2532 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายปี พ.ศ.2542 และในปัจจุบันได้ใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่  18 กันยายน  2551 เป็นต้นมา

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 62 กำหนดให้สถาบันการศึกษาได้จัดระบบการตรวจติดตาม ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษาและคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายในประกอบกับคณะรัฐมนตรี ได้มีมติกำหนดให้ทุกส่วนราชการต้องจัดให้มีหน่วยตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามและให้คำปรึกษาต่อหน่วยงานจากรายละเอียดข้างต้น พบว่า รัฐบาลได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้ทุกส่วนราชการ  มีการตรวจสอบภายในที่เป็นระบบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการตรวจสอบการติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการในความรับผิดชอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร

ปรัชญา 

สร้างคุณค่าเพิ่ม  เสริมความเชื่อมั่น  สอบทานความถูกต้อง

วิสัยทัศน์

ตรวจสอบได้มาตรฐาน  บริการแบบมืออาชีพ

อัตลักษณ์

เข้มแข็ง  มั่นใจ  ใส่ใจการตรวจสอบ  คำตอบถูกต้อง

 พันธกิจ

  1. งานบริการให้ความเชื่อมั่น (Assurance Services) เป็นการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ อย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งการประเมินผลอย่างอิสระในกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมและการกำกับดูแลของส่วนราชการ เช่น การให้ความเชื่อมั่นทางด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ความมั่นคงปลอดภัยของระบบต่างๆ
  2. งานบริการให้คำปรึกษา  (Consulting Services) เป็นการบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้รับบริการ โดยลักษณะและขอบเขตของงานจะเป็นไปตามความต้องการของผู้รับบริการ และมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มพูนคุณค่าและปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมของมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น

เป้าประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  2. เพื่อส่งเสริมให้การบริหารทรัพยากรของมหาวิทยาลัยเป็นไปอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม
  3. เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในของมหาวิทยาลัย
  4. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมหาวิทยาลัย