แนะนำหน่วยงาน

เผยเเพร่เมื่อ 917 เข้าชม

งานตรวจสอบภายในภาคราชการ เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โดยระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2505 กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการ เป็นผู้ตรวจสอบภายใน รับผิดชอบในการตรวจการเบิกจ่ายรวมทั้งการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่าย และรายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการอย่างน้อยเดือนละครั้ง ต่อมา พ.ศ. 2516 งานตรวจสอบภายในถูกนำไปกำหนดไว้ในระเบียบการรับจ่าย การเก็บรักษาและการนำส่งเงินของส่วนราชการ พ.ศ. 2516 แทน และใน พ.ศ. 2519 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกกระทรวง และกรม มีอัตรากำลังในตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในของส่วนราชการหรือของจังหวัดโดยเฉพาะ ส่งผลให้กระทรวงการคลัง จัดทำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2532 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายปี พ.ศ.2542 และในปัจจุบันได้ใช้ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการตรวจสอบภายในของส่วนราชการ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 กันยายน 2551 เป็นต้นมา
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 62 กำหนดให้สถาบันการศึกษาได้จัดระบบการตรวจติดตาม ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษาและคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายในประกอบกับคณะรัฐมนตรี ได้มีมติกำหนดให้ทุกส่วนราชการต้องจัดให้มีหน่วยตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามและให้คำปรึกษาต่อหน่วยงาน
จากรายละเอียดข้างต้น พบว่า รัฐบาลได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้ทุกส่วนราชการมีการตรวจสอบภายในที่เป็นระบบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการตรวจสอบการติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการในความรับผิดชอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดทำประกาศ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายใน มหาวิทยาลัย ราชภัฏสกลนคร พ.ศ. 2549 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2549 โดยให้แบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี ดังนี้

กองกลาง
กองนโยบายและแผน
กองพัฒนานักศึกษา

จากนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จึงได้จัดทำประกาศเรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นระดับงานหรือเทียบเท่างาน พ.ศ. 2549 โดยประกาศให้กองกลางแบ่งส่วนราชการเป็นระดับงานหรือเทียบเท่างาน ดังนี้

1. งานบริหารงานทั่วไป
2. งานบริหารบุคคลและนิติการ
3. งานคลัง
4. งานทรัพย์สินและรายได้
5. งานพัสดุ
6. งานประชาสัมพันธ์และโสตทัศนูปกรณ์
7. งานอาคาร สถานที่ และยานพาหนะ
8. งานประกันคุณภาพการศึกษา
9. หน่วยตรวจสอบภายใน